สหกิจศึกษา

พัฒนาขีดความสามารถ สร้างโอกาส สร้างความเข้มแข็ง : หนึ่งในแนวทางพัฒนาคุณภาพบัณฑิตเกษตร พร้อมก้าวสู่สังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง

หลักการและเหตุผล : สหกิจศึกษา

      ปัจจุบันภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ฯลฯ เป็นไปด้วยความรวดเร็วทั้งภายในและภายนอกประเทศ อันส่งผลกระทบต่อระบบการแข่งขัน ในตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น การผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรี ซึ่งแต่ละสาขามีจำนวนมากขึ้นทั้งในสถาบันการศึกษาเดิมที่เปิดทำการเรียนการสอนในปัจจุบัน และการเกิดขึ้นของสถาบันการศึกษาแห่งใหม่ หรือการขยายการผลิตให้มีสาขาที่หลากหลายขึ้นในสถาบันการศึกษาเดิม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันของบัณฑิตในตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      ในสภาวะที่ความต้องการผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณธรรม จริยธรรมความรู้ ทักษะ ความสามารถที่สูงขึ้น เพื่อให้องค์กรมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น สิ่งที่สถาบันผู้ผลิตบัณฑิตพึงตระหนักร่วมกันคือ การสร้างโอกาสและการเข้าถึงโอกาส ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ดีในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการจริง เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งในด้านทักษะวิชาชีพ บุคลิกภาพ คุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่ดีของผู้ปฏิบัติงานในสถานประการอย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสามารถบูรณาการปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถร่วมกันอย่างเหมาะสมกับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่

      คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เล็งเห็นความสำคัญในสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้กำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2550 และปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดย ได้บรรจุระบบการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะอาชีพทางการเกษตรในสถานประกอบการจริงในเวลาประมาณ 4 เดือน (16 สัปดาห์) หรือที่เรียกว่า แผนการเรียนสหกิจศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความร่วมมือที่ดีในการพัฒนานักศึกษา อันหมายถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติในอนาคตระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสถานประกอบการ นักศึกษา และคณะเกษตรศาสตร์ ตลอดจนเป็นการปรับบทบาทในบรรยากาศที่ดี ที่ทุกฝ่ายร่วมกันมีส่วนในการรับผิดชอบ สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการเกษตรของประเทศต่อไป

กลับ